ลูกถ้วย (Insulators) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รองรับสายไฟ
ทำหน้าที่เป็นฉนวนและป้องกันมิให้กระแสไฟฟ้ารั่วลงดินหรือลัดวงจรลงดิน
เพราะถ้าปริมาณกระแส ที่รั่วไหลมีจำนวนมาก อุปกรณ์ป้องกันที่ติดตั้งในระบบจำหน่ายก็จะตัดวงจรออก
ทำให้การจ่ายไฟหยุดชะงัก ดังนั้นลูกถ้วยจึงมีความสำคัญตราบใดที่ยังมีการจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปตามสายเหนือดิน
(Over head line) ทั้งสายส่งแรงสูง (Transmission line) และสายระบบจำหน่าย
(Distribution line)
ลูกถ้วยที่ใช้ในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีหลายแบบได้แก่
1. ลูกถ้วยก้านตรง (Pin insulators)
2. ลูกถ้วยแขวน (Suspension insulators)
3. ลูกถ้วยฟอกไทพ์ (Fog type insulators)
4. ลูกถ้วยโพสท์ไทพ์ (Post type insulators)
5. ลูกถ้วยสำหรับสายยึดโยง (Strain insulators)
6. ลูกถ้วยลูกรอก (Spool insulators)
ลูกถ้วยก้านตรง
ที่มีใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นพิกัด 22 และ 33 KV ตามมาตรฐาน
EEI-NEMA ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเหมาะสมกับ สภาพภูมิอากาศในบ้านเรา
ลูกถ้วยที่ใช้กับแรงดันสูงจะต้องเคลือบสารกึ่งตัวนำ (Semi-conductor)
ไว้ที่บริเวณรองรับสายไฟ ที่อยู่ด้านบนของลูกถ้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดคลื่นวิทยุไปรบกวนระบบสื่อสารที่อยู่ใกล้เคียง
![](../insulator/pin2.jpg)
ลูกถ้วยแขวน
มีลักษณะดังรูป โดยด้านบนและล่างของจานลูกถ้วยจะมีข้อต่อห่วงโลหะสำหรับเกี่ยวยึดกันเป็นชั้นๆ
สายตัวนำจะถูกยึดไว้ด้วย suspension clamp ลูกถ้วยแขวนสามารถใช้กับเสาต้น
dead end เพื่อรับสายไฟที่มีแรงดึงสูง จำนวนชั้นของลูกถ้วย ขึ้นอยู่กับระดับแรงดัน
ยิ่งแรงดันสูงจำนวนชั้นก็ยิ่งมาก กรณีที่ลูกถ้วยชำรุดสามารถถอดเปลี่ยนเฉพาะตัวที่ชำรุดได้
นิยมใช้มากในระบบแรงสูง โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ลูกถ้วยแขวน
2 ขนาดคือเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 และ 10 นิ้ว มีทั้งแบบธรรมดาและแบบ
anti - pollution
แบบ
normal
แบบ anti - pollution
ลูกถ้วยฟอกไทพ์
รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายกับลูกถ้วยก้านตรงแบบแรงสูงแต่มีครีบชั้นมากกว่าและระยะสูงกว่า
ลูกถ้วยชนิดนี้ออกแบบไว้ใช้ แถบชายทะเลที่มีมลภาวะไอเกลือจากทะเลสูงมากรวมทั้งป้องกันการเกิด
flashover หรือเกิด leak ซึ่งลูกถ้วยก้านตรงทั่วไป ไม่สามารถป้องกันคราบเกลือเกาะตามลูกถ้วยได้
ถ้าหากใช้ลูกถ้วยก้านตรงทั่วไปในบริเวณดังกล่าวต้องทาครีบลูกถ้วย
ด้วย silicon compound เพื่อป้องกันคราบเกลือเกาะ แต่ต้นทุนจะสูงกว่าการใช้ลูกถ้วยฟอกไทพ์
![](../insulator/fog2.jpg)
ลูกถ้วยโพสท์ไทพ์
สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วจะใช้ลูกถ้วยชนิดนี้ไม่มากนักและส่วนใหญ่ใช้ที่ภาคใต้
บริเวณที่เป็นทางโค้งหรือทางแคบๆ แทนการใช้ลูกถ้วยก้านตรงขนาด
33 KV. หรือลูกถ้วยแขวนเพราะมีความปลอดภัยมากกว่า การติดตั้งลูกถ้วยในระบบจำหน่าย
อาจเป็นแนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ติดตั้งในแนวนอนและสลับด้านซ้าย-ขวาของเสา
โดยมี clamp ที่ด้านปลายลูกถ้วย เป็นตัวยึดสายไฟ
![](../insulator/post_12.jpg)
ลูกถ้วยสำหรับสายยึดโยง
สายยึดโยงในระบบจำหน่าย มีหน้าที่รับแรงดึงของสายไฟที่มีต่อเสาไฟฟ้า
เพื่อให้เสาอยู่ในสภาพสมดุล โดยสายยึดโยงนั้นใช้ลวดเหล็กตีเกลียวขนาดตามความเหมาะสม
ยึดกับเสาไฟด้วยสลักเกลียวห่วงแบบธรรมดาเดี่ยว 45 องศา ประกอบที่จุดสำหรับทำสายยึดโยงที่หัวเสา
ส่วนปลายยึดกับห่วงรองก้านสมอบก แต่เนื่องจากลวดเหล็กตีเกลียวติดตั้งไว้สูง
ใกล้กับสายไฟแรงสูง จึงต้องมีฉนวนป้องกันกระแสรั่วไหลจากหัวเสาผ่านมาตามสายยึดโยง
และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ใกล้เคียงหรือสัมผัสกับสายยึดโยง
และเนื่องจากฉนวนนี้อยู่แนวเดียวกับสายยึดโยงซึ่งมีแรงดึงมาก
ดังนั้นฉนวนหรือลูกถ้วยสำหรับสายยึดโยงจึงต้องมีความสามารถในการเป็นฉนวนที่ดีรวมทั้งทนแรงดึงหรือแรงกดได้สูงอีกด้วย
และเนื่องจากวัสดุประเภทกระเบื้องเคลือบจะทนแรงกดได้ดีกว่าแรงดึงมาก
ดังนั้นลูกถ้วยจึงถูกออกแบบมาให้รับแรงยึดโยง ในลักษณะแรงกด
![](../insulator/strain.jpg)
ลูกถ้วยลูกรอก
ใช้รองรับสายในระบบจำหน่ายแรงต่ำ มีลักษณะดังรูป ใช้ประกอบกับ
rack โดยสายไฟจะพาดผ่านร่องกลางของลูกถ้วย สามารถติดตั้งได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้งขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ที่จะติดตั้ง
กลับไปหน้าแรกโฮมเพจออกแบบระบบไฟฟ้า
|