สาระสำคัญและแนวทางการปฏิบัติและกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ.2528

             กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลรักษาโบราณสถาน ดำเนินงานอนุรักษ์ภายใต้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุด พ.ศ.2535 และออกระเบียบกรมศิลปากรฯ พ.ศ.2528 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1.       นิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

-          การอนุรักษ์ หมายความว่า การดูแล รักษา เพื่อให้คงคุณค่าไว้ และให้หมายรวมถึงการป้องกัน การรักษา การสงวน การปฏิสังขรณ์ และการบูรณะด้วย

-          การสงวนรักษา หมายถึง การดูแล รักษาไว้ตามสภาพของเดิมเท่าที่เป็นอยู่ และป้องกันมิให้เสียหายต่อไป

-          การปฏิสังขรณ์ หมายถึง การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างที่เคยเป็นมา

-          การบูรณะ หมายถึง การซ่อมแซม และปรับปรุงให้มีรูปทรงลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่เดิม และสิ่งที่ทำขึ้นใหม่

-          โบราณสถาน หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ และศิลปวัตถุที่ติดตั้งประจำกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

โบราณสถานต้องมีสาระสำคัญด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านคือ

        ๑.  มีคุณค่าด้านอายุ

        ๒.  มีคุณค่าด้านคุณค่าทางการก่อสร้าง

        ๓.  มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์

-          คณะกรรมการ หมายถึงคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่พิจารณา ควบคุมดูแลการอนุรักษ์โบราณสถาน

2.       อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตโบราณสถาน ทั้งที่มีและไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง

2.1   กรณีเป็นโบราณสถานที่ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง

-          ภายในเขตโบราณสถานห้ามสร้างอาคารทุกชนิด เว้นแต่อธิบดีอนุญาต

-          ห้ามซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน  ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ ภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่ทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี

-          รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้เข้าชมโบราณสถานปฏิบัติในระหว่างเข้าชมได้ และจะกำหนดให้ผู้เข้าชมเสียค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่นด้วยก็ได้

-          อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในบริเวณโบราณสถานได้ โดยจ่ายค่าตอบแทนให้กรมศิลปากร

2.2   กรณีเป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง

-          เมื่ออธิบดีแจ้งประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องร้องคัดค้านต่อศาลภายใน 30 วัน หากไม่ร้องหรือศาลยกคำร้อง ให้อธิบดีขึ้นทะเบียนได้

-          ห้ามซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน  ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ ภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่ทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี

-          ภายในเขตโบราณสถานห้ามสร้างอาคารทุกชนิด เว้นแต่อธิบดีอนุญาต

-          ถ้าโบราณสถานชำรุดเสียหายหักพัง เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องแจ้งอธิบดีภายใน 30 วัน และถ้าเป็นโบราณสถานที่มีการเรียกเก็บค่าเข้าชมหรืออื่นๆ ให้เจ้าของออกค่าใช้จ่าย    ในการซ่อมแซมทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่อธิบดีกำหนด ซึ่งจะกำหนดตามคณะกรรมการที่มีเจ้าของร่วมคณะอยู่ด้วย

-          อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้ใดไปทำการซ่อมแซมเพื่อการอนุรักษ์ได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของทราบล่วงหน้า

-          เจ้าของสามารถเก็บค่าเข้าชมโบราณสถานหรือบริการอื่นได้ แต่ต้องแจ้งอธิบดีก่อน และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด

3.       กำหนดขั้นตอนก่อนการดำเนินการอนุรักษ์

-          สำรวจสภาพเดิมและสภาพปัจจุบัน

ทั้งรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และสภาพความเสียหาย บันทึกเป็นเอกสาร ภาพ และเขียนแบบโดยละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาทำโครงการอนุรักษ์ และเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์

-          จัดทำโครงการ

ให้พิจารณาว่าโบราณสถานนั้นมีคุณค่าหรือจุดเด่นด้านใด แล้วจัดทำโครงการโดยให้ความสำคัญในการรักษาจุดเด่นนั้นเป็นหลัก และให้ความสำคัญด้านรองอื่นๆด้วย

-          พิจารณาประวัติการบูรณะ หรือต่อเติมแก้ไข

เพื่อพิจารณารื้อถอนส่วนต่อเติมหากมันทำให้คุณค่าของเดิมเสียไป หรือแก้ไขให้ถูกต้อง

4.       มาตรการการอนุรักษ์

4.1 การปกป้อง (การระวังรักษาไม่ให้ถูกทำลาย เช่น การขึ้นทะเบียน การกันเขต การผลักดันผู้บุกรุก ฯลฯ )

4.2 การอนุรักษ์ (การสงวนรักษา การปฏิสังขรณ์ และการบูรณะ)

4.3 การคุ้มครอง (การป้องกันและรักษาภูมิทัศน์, สภาพแวดล้อม และการบริหารจัดการ)

วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย

ที่จัดการภูมิทัศน์ด้วยการปรับพื้นที่โดยรอบให้เรียบ ปลูกหญ้า ตัดต้นไม้ใหญ่ให้เหลือเพียงบางส่วน เพื่อไม่ให้บดบังโบราณสถาน ซึ่งเป็นวิธีการจัดการกับภูมิทัศน์ของโบราณสถานโดยทั่วไป

 

5.       ในการอนุรักษ์โบราณสถาน กำหนดให้คำนึงถึงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมด้วย

วัดไชยวัฒนาราม

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

6.       กำหนดให้พิจารณาแบบที่เหมาะสมที่สุดในการอนุรักษ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบหนึ่งแบบใดเสมอไป และให้พิจารณาว่าได้บูรณะแก้ไขมาแล้วกี่ครั้ง ผิดถูกอย่างไร

7.       กำหนดให้แสดงหลักฐานการเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยวิธีการบันทึกเป็นเอกสาร เขียนแบบ หุ่นจำลอง หรือวิธีอื่นใด

8.       กำหนดให้เลือกใช้การสงวนรักษาสำหรับโบราณสถานที่มีความสำคัญเยี่ยมยอด รวมทั้งชิ้นส่วนทางจิตรกรรม ประติมากรรม และโบราณวัตถุที่มีคุณค่าเยี่ยมยอดด้วย ยกเว้นปูชนียวัตถุที่มีการเคารพบูชามาโดยตลอดและคณะกรรมการเห็นชอบแล้ว

9.       กำหนดให้ใช้เทคนิคการอนุรักษ์ที่ผ่านการศึกษาและทดลองจนเป็นที่พอใจแล้วเท่านั้น

10.   กำหนดให้การเสริมความมั่นคงแข็งแรงเท่าที่จำเป็น เรียบง่ายและกลมกลืนกับของเดิม

11.   ในกรณีจำเป็นต้องทำชิ้นส่วนที่ขาดหายไปขึ้นมาใหม่ ต้องทำให้กลมกลืนกับของเดิมแต่ต้องแสดงให้เห็นได้ว่าทำขึ้นมาใหม่

12.   ควรอนุรักษ์ซากโบราณสถานโดยการรวบรวมชิ้นส่วนมาประกอบขึ้นให้เหมือนเดิม ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน สำหรับชิ้นส่วนที่ขาดหายไปแต่จำเป็นสำหรับการสงวนรักษา อาจทำเพิ่มขึ้นใหม่ได้

13.   การอนุรักษ์ซากโบราณสถานซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีนั้น ให้ทำได้โดยรักษาไว้ตามสภาพเดิมหลังการขุดแต่ง และป้องกันไม่ให้เสียหายต่อไปด้วยวิธีที่ไม่ทำให้โบราณสถานเสียคุณค่า

   เวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่

14.   โบราณสถานที่เป็นปูชนียสถานอันเป็นเคารพบูชา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนโดยทั่วไป จะต้องบูรณะโดยไม่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ลักษณะสีและทรวดทรง ซึ่งจะทำให้โบราณสถานนั้นหมดคุณค่า หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไป

15.   เมื่อไม่สามารถป้องกันการโจรกรรม หรือการชำรุดเสียหายของชิ้นส่วนโบราณสถาน ประติมากรรม จิตรกรรม และศิลปกรรมด้วยวิธีอื่นแล้ว ให้ใช้การนำชิ้นส่วนนั้นมาเก็บรักษาไว้ในสถานที่อันปลอดภัยและทำแบบจำลองให้เหมือนของเดิมไปประกอบไว้ที่เดิมแทนได้

16.   โบราณสถานที่ยังใช้ประโยชน์อยู่ ให้สามารถต่อเติมเสริมสร้างสิ่งจำเป็นขึ้นใหม่ได้เพื่อความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเหมือนของเดิม แต่ต้องมีลักษณะกลมกลืนและไม่ทำลายคุณค่าของโบราณนั้น

17.   โบราณสถานทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนต้องมีมาตรการบำรุงรักษาให้อยู่สภาพมั่นคงและสวยงามอยู่เสมอ

18.   โบราณสถานที่ชำรุดทรุดโทรม อาจเป็นอันตราย ควรใช้มาตรการเบื้องต้น เสริมความแข็งแรงไว้ก่อนที่จะดำเนินการอนุรักษ์

19.   ในบางกรณีที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้ติดต่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นหรือสถาบันเอกชน