เทคนิคการซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์และโบราณสถาน (ปัญหาความชื้นในอาคาร)
การควบคุมความชื้นใต้ดิน

ในการแก้ไขปัญหาความชื้นหรือการควบคุมความชื้นใต้ดินนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งที่มาของความชื้น ได้แก่

    - การแก้ไขหรือป้องกันการรั่วซึมของหลังคา ปูนก่อปูนฉาบ

    - การแก้ไขส่วนบกพร่องของแหล่งน้ำภายในอาคาร เช่น ท่อประปา

    - การดูแลไม่ให้น้ำท่วมขังรอบอาคารด้วยการจัดการการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากการกำจัดแหล่งที่มาของความชื้นแล้ว การป้องกันความชื้นเข้าสู่อาคารด้วยการสร้างชั้นกันความชื้นหรือวิธีการอื่นๆก็มีความจำเป็น ซึ่งต้องใช้ควบคู่กัน มีหลายวิธี ซึ่งอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน ดังนี้

 

1. การทำบริเวณฐานอาคารให้แห้ง (Drying System)

 

- วัตถุประสงค์เพื่อแยกอาคารออกจากส่วนที่เปียกชื้น ด้วยการใช้กำแพงกั้นและสร้างบริเวณช่วยระเหยเพื่อให้บริเวณฐานอาคารแห้งที่สุดที่ระดับต่ำกว่าระดับดิน

- โดยการขุดรางระบายอากาศตามแนวฐานอาคาร ลึกประมาณ 30-40 ซม.วางท่อระบายน้ำที่ท้องราง ถมเต็มด้วยกรวดก้อนใหญ่ (ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการรบกวนหลักฐานทางโบราณคดี)

- ส่วนพื้นที่ชิดกำแพงก็ไม่ควรมีวัสดุปูพื้นที่ทึบตัน เช่นแผ่นซิเมนต์ แผ่นหิน เพื่อให้ความชื้นใต้ดินมีโอกาสระเหยขึ้นมา ไม่ผ่านเข้าสู่กำแพง

 

2. การใช้ท่อดินเผาระบายความชื้นออกจากกำแพง

- วัตถุประสงค์เพื่อให้ความชื้นในกำแพงถูกดึงเข้าไปในท่อแห้งที่มีอากาศอยู่แล้วระเหยออกไป เป็นวิธีการหรือหลักการเดียวกับการก่ออิฐรูสลับกันในกำแพงซึ่งใช้กันในสมัยก่อน

- วิธีการคือการฝังท่อดินเผาเข้าไปในบริเวณที่ชื้นของกำแพง ลึกประมาณ 2ใน3 ส่วนของความหนากำแพง เชิดขึ้นประมาณ 10-15 องศา ยาด้วยปูนขาวอ่อนๆรอบท่อ

- การฝังท่อควรฝัง 2-3 ชั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

- ปัญหาของวิธีนี้คือน้ำหรือความชื้นที่ถูกดึงเข้ามาในท่อระเหยออกช้ามาก ไม่ทันกับปริมาณความชื้นที่เข้ามาทำให้ท่อกลายเป็นแหล่งสะสมความชื้นและเกลือเสียเอง

 

3. การใส่ชั้นกันความชื้น

- คือใส่แผ่นกันน้ำ(D.P.C.) ซึ่งทำจากวัสดุหลายชนิดเช่น ทองแดง อลูมิเนียม สแตนเลสหรือเหล็กไร้สนิม ปัจจุบันนิยมใช้แผ่นโพลีเอทีลีนชนิดหนาหุ้มด้วยคาร์บอนสีดำเข้าไปในกำแพง ตลอดแนวและเต็มหน้าตัด

- วิธีการคือการตัดฐานกำแพงให้ขาดทะลุเป็นช่วงๆ ช่วงละประมาณ 50 ซม.ช่วงเว้นช่วง หรือช่วงเว้นสองช่วงด้วยเลื่อยโซ่ จานไฟเบอร์ใหญ่ หรือใช้สว่านเจาะเป็นรูเรียงกันไป รอยตัดต้องบางที่สุดเพื่อให้ปลอดภัยในการรับน้ำหนัก

- ปัจจุบันนิยมใช้การฉีดสาร Polyester Resin เหลวเข้าในช่องตัด เมื่อแข็งตัวจะสามารถรับน้ำหนักได้ดีและกันน้ำได้

 

4. การฉีดสารเคมีสร้างชั้นไล่น้ำ

- วิธีการนี้เหมาะสำหรับกำแพงที่หนามากๆ ไม่สามารถตัดได้ หลักการคือการสร้างชั้นไล่น้ำในกำแพงเหนือระดับดินแทนการชั้นกันความชื้น

- โดยการฉีดสารเคมีจำพวกสารละลายซิลิโคนหรือ Aluminium Stearates เข้าไปในเนื้อกำแพง สารเคมีจะเข้าไปอยู่ในโพรงของเนื้อวัสดุทำให้ผิวสัมผัสของวัสดุกลายเป็นผิวที่น้ำเกาะไม่ได้ น้ำจะซึมขึ้นด้านบนไม่ได้

- หรือใช้สารจำพวกลาเท็กซ์เพื่ออุดโพรงในเนื้อวัสดุ

- เจาะกำแพงเป็นช่องเพื่อฉีดสารเคมีห่างช่องละ 15 ซม. และควรเจาะตามแนวปูนก่อมากกว่าในเนื้อวัสดุก่อ

- หากกำแพงมีใส้กลางเป็นหินก่อ อาจฉีดปูนขาวเข้าไปให้เต็มช่องว่างของโพรงกำแพงก่อนเพื่อลดปริมาณสารเคมี

- ประสิทธิภาพในการป้องกันความชื้นขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของสารเคมีว่าสม่ำเสมอและทั่วถึงหน้าตัดกำแพงเพียงใด

 

5. การใช้ไฟฟ้า

- โดยอาศัยหลักความจริงที่จะมีความต่างศักย์ไฟฟ้าขึ้นในกำแพงที่มีความชื้น ดังนั้น ถ้าเรานำเอาขั้วไฟฟ้ากระแสตรงต่อขั้วไฟฟ้าหนึ่ง(+)ที่อยู่กำแพงกับอีกขั้วไฟฟ้าหนึ่ง(-)ที่อยู่ในดิน จะสามารถควบคุมการไหลของน้ำหรือความชื้นได้ เพราะประจุไฟฟ้าที่ดึงน้ำขึ้นมาจะวิ่งวนกลับลงเสมอตามวงจรไฟฟ้า

- ทำได้ 2 วิธีคือ Passive คือการต่อขั้วไฟฟ้าเข้าด้วยกันโดยไม่มีกระแสไฟฟ้าภายนอกมาเกี่ยวข้อง และแบบ Active คือมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าจากภายนอกเข้าสู่วงจรด้วย

                                                               - โดยการเจาะรูกำแพงลึกกว่าครึ่งหนึ่งของความหนากำแพงประมาณ 5 ซม.ห่างกันประมาณ 65 ซม.ตลอดแนวกำแพง สอดขั้วไฟฟ้าที่ทำจากแผ่นทองแดงม้วนเข้าไป ต่อสายไฟฟ้าเข้าหากันแล้วต่อไปยังสายดิน (ground) ที่ทำจากท่อทองแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 มม.

- ระบบนี้จะทำงานได้ดีเมื่อความชื้นสูงเกิน 15 % ซึ่งความชื้นระดับนั้นเป็นระดับที่สูงเกินไปแล้ว

- ปัญหาในระยะยาวคือท่อทองแดงเสื่อมสภาพจะหมดสภาพความเป็นขั้วบวก ต้องใช้โลหะบางชนิดเช่นไททาเนียมชุบทองขาวแทนซึ่งจะทนทานกว่ามากแต่มีราคาสูง

 

(หน้าต่อไป)