เทคนิคการซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์และโบราณสถาน (งานไม้ในอาคาร) |
ปัญหาพื้นฐานของโครงสร้างไม้
1. การผิดรูปของโครงสร้าง (Deformation) จุดอ่อนแอที่สุดของโครงสร้างไม้คือข้อต่อ รอยต่อทั้งหลาย โดยเฉพาะส่วนยอด และเสากับตง สาเหตุเนื่องจากความไม่ rigid ของข้อต่อเอง หรือเกิดจากความล้มเหลวของโครงสร้างอื่นๆเช่นฐานราก เสา คาน หลังคา แล้วส่งผลมาถึงโครงสร้างทั้งหมด
2. วิธีการก่อสร้างของโบราณสถานของไทย ที่ทำให้ไม้บางตัวต้องฝังอยู่ในกำแพงก่ออิฐ เช่น ขื่อ แปหัวเสา โคนเสา เป็นต้น ไม้เหล่านี้จะผุพังเสียหายง่ายกว่าไม้ส่วนอื่นๆเนื่องจากได้รับความชื้นจากกำแพง ทำให้อยู่ในสภาพชื้นสลับแห้งอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้ถูกจุลินทรีย์และแมลงทำลาย
3. การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ที่มีส่วนประดับเครื่องบน เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แป อกไก่ เชิงชาย สะพานหนู ฯลฯ ตลอดจนส่วนอื่นๆเช่น ราวระเบียง พื้นชาน ฯลฯ ถูกแดดถูกฝนโดยตรง แดดจะทำลายยางไม้และฝนทำลายเนื้อเยื่อของไม้ ผุพังและเกิดจุลินทรีย์ ส่วนต่างๆเหล่านี้จะผุพังเร็วกว่าส่วนอื่นๆ
4. หลังคาบกพร่องหรือชำรุดเสียหาย ทำให้น้ำเข้าสู่อาคารและสร้างความเสียหายให้กับส่วนอื่นๆในอาคาร หลังคาที่อาจบกพร่องเสียหายด้วยหลายสาเหตุเช่น มุงไม่ได้ความลาดที่ถูกต้องหรือสม่ำเสมอ หรือมุงผิดวิธี หรือกระเบื้องแตกชำรุด หรือด้วยสาเหตุภายนอกเช่น กิ่งไม้ สัตว์
5. การทำลายของจุลินทรีย์และแมลง โดยมีความชื้นมีส่วนสำคัญในการเร่งความเสียหาย
6. คุณภาพของไม้ เพราะไม้แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียต่างกัน และเหมาะกับการใช้งานที่ต่างกัน เช่น ไม้ตะเคียนทองทนทานแต่ยืดหดตัวมาก ใช้ทำช่อฟ้าใบระกา เป็นต้น ไม้บางชนิดไม่มีความทนทาน เช่นไม้ยาง ไม่ควรนำมาใช้ซ่อมอาคาร โดยเฉพาะอาคารอนุรักษ์และโบราณสถาน
หลักการซ่อมอาคารไม้
1. รื้อลงแล้วสร้างใหม่ เป็นวิธีจารีตประเพณี คือวิธีที่โบราณใช้กันในการซ่อมแซมอาคาร หรือใช้ในกรณีที่อาคารชำรุดเสียหายมากจนเกินกว่าที่จะซ่อมเฉพาะส่วนได้
2. ซ่อมเปลี่ยนเฉพาะส่วน เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไป ทั้งในอาคารทั่วไปและอาคารอนุรักษ์ โดยการเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ผุชำรุดเสียหาย แต่วัสดุที่เปลี่ยนใหม่ควรเป็นวัสดุชนิดเดียวกับวัสดุเดิม วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้และเป็นหลักการอนุรักษ์ที่ยอมรับกันในสากล แต่ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นตลอดจนเจ้าของและผู้ใช้อาคารอาจจะไม่ยอมรับกันเพราะต้องการอาคารหรือส่วนต่างๆของอาคารที่เป็นของใหม่ทั้งหมด
|
การตัดต่อไม้แบบต่างๆ
(ภาพการต่อไม้จากเวบไซด์รายวิชางานไม้และก่อสร้าง คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี) ซึ่งมีทั้งแบบอนุรักษ์ หรือตามแบบที่โบราณใช้ กับแบบที่ใช้แผ่นเหล็ก nut & bolt ซึ่งหากแนวต่อไม้สามารถมองเห็นได้ ก็ควรเลือกใช้ตามแบบโบราณสำหรับอาคารอนุรักษ์ โดยเลือกใช้ตามแบบที่อาคารหลังนั้นๆใช้อยู่แต่เดิม
|
การเคลือบผิวไม้ การเคลือบผิวไม้เป็นป้องกันเนื้อเยื่อของไม้จากการทำลายของธรรมชาติและจุลินทรีย์ ที่มีใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการทาหรือเคลือบน้ำยาลงบนผิวของไม้ ซึ่งโบราณใช้ยางของต้นรัก ซึ่งเป็นยางเหนียวสกัดจากเปลือกของต้นรัก มีสีขาวหมองเก็บไว้ในน้ำ เมื่อสัมผัสอากาศจะแห้งและแข็งตัว เปลี่ยนเป็นสีดำ เรียกว่า ลงรัก ส่วนสารที่ใช้เคลือบไม้ในปัจจุบัน ได้แก่ สี และ น้ำยารักษาเนื้อไม้ต่างๆ ที่มีให้เลือกใช้ตามประเภทของการใช้งานมากมายหลายชนิด
วิธีเคลือบน้ำยาไม้ 1. การทาผิว ให้ผลการป้องกันได้ในระดับหนึ่ง และต้องทาซ้ำเรื่อยๆ ป้องกันการทำลายของธรรมชาติได้แต่ไม่มีผลต่อแมลงที่อาศัยอยู่ภายในตัวไม้ 2. การแช่หรือจุ่ม ใช้กับน้ำยาเย็นหรือร้อน โดยใส่ไม้ลงในถังน้ำยา ต้มให้เดือดเพื่อไล่ความชื้นเดิมออกจากเซลเนื้อไม้ แล้วปล่อยให้เย็น น้ำยาจะซึมเข้าไปแทนที่น้ำในเซลเนื้อไม้ 3. การอัดด้วยแรงดันสูง (Pressure Impregnation) โดยใช้ถังแรงดันสูง ใส่ไม้ลงไป ดูดอากาศออก ฉีดน้ำยาเข้าไปแล้วเพิ่มความดัน ทำให้น้ำยาซึมเข้าไปในเซลเนื้อไม้ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาเนื้อไม้
|