การทำงานที่เกี่ยวข้องกับฐานานุศักด์สถาปัตยกรรม (วัด, วัง) (2)

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีฐานานุศักดิ์ในด้านต่างๆแฝงอยู่ในวิถีชีวิตของเรามาช้านาน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย เช่น การให้เกียรติหรือให้ความเคารพบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ หรือผู้อาวุโส การให้เกียรติหรือให้ความเคารพพระสงฆ์ เช่นเราจะถวายอาหารที่ดีแก่พระสงฆ์ หรือให้ท่านได้ฉันอาหารก่อน แล้วเราจึงจะรับอาหารนั้นมาทานต่อ ฯลฯ เป็นต้น

ในงานสถาปัตยกรรม ก็มีฐานานุศักดิ์อยู่ด้วยตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะเรื่องราวของบ้าน วัด และวัง เพียงแต่ไม่ปรากฏเป็นกฎหมายหรือระเบียบชัดเจน เป็นจารีตที่สังคมยอมรับและถือปฏิบัติกัน แต่แทบไม่มีการถือปฏิบัติกันแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องบ้าน

  วัสดุก่อสร้าง

ในอดีต จารีตหรือประเพณีในการปลูกบ้านหรือเรือนของคนทั่วไป จะใช้ไม้ไผ่หรือวัสดุที่ไม่ถาวรอื่นๆเป็นวัสดุในการก่อสร้าง อาจใช้ไม้จริงบ้างในส่วนที่ต้องการความแข็งแรง เช่นเสา แต่โดยรวมทั้ง ฝา พื้น และหลังคา จะเป็นไม่ไผ่ ส่วนไม้จริงจะใช้กับบ้านหรือเรือนของชนชั้นเจ้านายและกษัตริย์ ส่วนเรือนเครื่องก่อจะสงวนไว้สำหรับอาคารของเทพหรือพระเจ้า จึงปรากฎใช้เฉพาะอาคารทางศาสนา เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์เท่านั้น

ต่อมาเมื่ออยุธยารับเอาลัทธิเทวกษัตริย์จากขอม ที่ถือว่ากษัตริย์เป็นเทพองค์หนึ่ง จึงได้สร้างพระราชวังเป็นอาคารเครื่องก่อด้วย แต่ปัจจุบันประเพณีนี้ไม่มีใครถือปฏิบัติแล้ว

  อาคารประเภทต่างๆ

อาคารเครื่องลำยอง

เครื่องลำยอง คือ เครื่องประดับหลังคา ประกอบด้วย ช่อฟ้า รวยระกา หางหงส์ ลักษณะการติดตั้งคล้ายกับไม้ปั้นลมของหลังคาจั่วในอาคารทั่วไป

รวยระกาคือไม้แผ่นหนา ลักษณะคล้ายลำตัวนาค ทอดยาวตามแนวหลังคา มีจังหวะการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับระยะแปที่ยื่นยาวออกมา มีส่วนที่คล้ายกับพักตัวบนแปลาน เรียกว่า นาคสะดุ้ง มีส่วนปลายแหลมยื่นออกมาเกี่ยวกับแป เรียกว่า งวงไอยรา และเรียกว่าแปตัวที่งวงไอยราเกี่ยวอยู่ว่า แปงวง

รวยระกาหรือเครื่องลำยองนี้ ในภูมิภาคต่างๆ เช่น ล้านนา ล้านช้าง มีการใช้รูปแบบที่ต่างกันออกไป แต่ภาพรวมคล้ายกันและมีความหมายหรือหลักการเดียวกัน

ปลายบนสุดของเครื่องลำยองคือ ช่อฟ้า เป็นองค์ประกอบสำคัญของอาคารในงานสถาปัตยกรรมไทย ประเภทอาคารทางศาสนา โดยเฉพาะอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีสัณฐาน เป็นรูปลักษณะคล้ายสัตว์ปีกจำพวกนก คือมีจะงอยปากตรงส่วนกลาง ส่วนปลายทำเป็นรูปเรียวโค้งปลายสะบัด หรือรูปลักษณะอื่นใดตามความนิยมหรือท้องถิ่น แต่มีรูปทรงที่คล้ายกัน

 อาคารเครื่องลำยองเป็นอาคารที่มีฐานานุศักดิ์ สงวนไว้ใช้สำหรับอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ควรนำไปใช้กับอาคารประเภทอื่น แม้แต่กุฏิพระหรืออาคารอื่นที่อยู่ภายในวัดที่ไม่ใช่ โบสถ์ วิหาร หอไตร ศาลาการเปรียญ หรืออาคารที่มีพระประธานอันเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่

 

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

อาคารเครื่องยอดปราสาท

เครื่องยอดปราสาท คือรูปแบบของหลังคารูปแบบหนึ่ง เป็นทรงสูงยอดแหลมตั้งอยู่บนหลังคาจั่ว มีฉันทลักษณ์หรือ order ที่กำหนดไว้ชัดเจนตายตัว

อาคารยอดปราสาทเป็นอาคารที่มีฐานานุศักดิ์ชั้นสูงสุด สงวนไว้ใช้สำหรับอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น แม้แต่วังหน้าหรือพระราชวังบวรสถานมงคลก็จะไม่ใช้หลังคาทรงปราสาทนี้ ไม่ควรนำไปใช้กับอาคารใดๆ แม้แต่จะเป็นอาคารทางศาสนา เช่นโบสถ์ วิหาร ฯลฯ

 
  เครื่องประกอบอาคาร

ฉัตร

ฉัตรคือเครื่องประดับคล้ายร่ม ชั้นเดียวหรือหลายชั้นซ้อนกัน เป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้าขบวนแห่เป็นเกียรติยศ จำนวนชั้นของฉัตรบอกถึงเกียรติยศของผู้นั้น ในล้านนา นิยมทำฉัตรประดับไว้บนหลังคาโบสถ์ วิหารและยอดเจดีย์ ซึ่งอาจเป็นอิทธิพลที่มาพร้อมกับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ผ่านทางมอญและพม่า เนื่องจากพม่านิยมทำฉัตรประดับไว้บนหลังคาโบสถ์ วิหารและเจดีย์ เช่นเดียวกับล้านช้างและล้านนา

ฉัตรคือเรื่องกั้นหรือเครื่องบังแสงแดดและลมฝน อีกทั้งเป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศ หรือเครื่องราชกกุธภัณฑ์อย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ และในฐานะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ในวรรณะกษัตริย์ดังนั้นจึงนำเอาฉัตรมาประดับพระเกียรติยศ และถือเป็นการถวายราชสักการบูชาต่อพระพุทธองค์ด้วย

ฉัตรจึงเป็นเครื่องประดับอาคาร สถานที่ที่มีฐานานุศักดิ์ชั้นสูงสำหรับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ไม่ควรนำไปใช้กับอาคารหรือสถานที่ประเภทอื่น

 
ตุง

ตุงคือเครื่องใช้ในการประดับ และเครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรมชนิดหนึ่ง มีลักษณะตรงกับภาษาบาลีว่า “ ปฎากะ ” หรือธงปฏาก ที่ทางภาคกลางเรียกว่า “ ธงตะขาบ ” เป็นธงที่ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ ตามความเหมาะสม มีความยาวอย่างตัวตะขาบ แขวนประดับหัวธงที่หัวเสา แล้วปล่อยชายยาวลงมาเบื้องล่าง

ตุงมีหลายชนิดตามการใช้งาน

1. ตุงประดับ คือตุงที่ใช้ประดับตกแต่งสถานที่ซึ่งมีงานปอยหรืองานสมโภชฉลองที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ทั้งเพื่อให้เกิดความสวยงาม และใช้เป็นเครื่องหมายนำทางไปสู่บริเวณงาน ตุงที่ใช้ตกแต่งสถานที่ เช่น ตุงชัย ตุงกระด้าง ตุงบอก ตุงพระบด ตุงช้าง

2. ตุงที่ใช้ประกอบพิธีกรรม มีทั้งที่ใช้พิธีกรรมในงานมงคลและอวมงคล อาจพบว่ามีลักษณะและการใช้ดังนี้

2.1 ตุง ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมงานมงคล ได้แก่ ตุงค่าฅิง ตุงสิบสองราศี ตุงไส้หมู ตุงเจดีย์ซาย ตุงค้าง เป็นต้น

2.2 ตุง ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมงานอวมงคล ได้แก่ ตุงสามหาง ตุงแดง  

3. ตุงที่ใช้ประกอบการเทศน์ ได้แก่ ตุงดิน ตุงซาย ตุงไม้ ตุงชืน ตุงเหียง ตุงเงิน ตุงฅำ ตุงเข้าเปลือก โดยการปักตุงในกัณฑ์เทศน์หรือประดับอาคารโบสถ์ วิหารที่มีการเทศน์ หรือศาลาบาตร เป็นต้น การทำตุงประกอบการเทศน์นี้ก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเชื่อว่าจะได้อานิสงส์มาก

 

การแยกประเภทอาคารสำหรับพระพุทธเจ้ากับพระมหากษัตริย์ออกเช่นนี้ เป็นหลักการของสังคมไทยที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเป็นสถานที่พิเศษที่ต่างไปจากอาคารอื่นๆในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความสำรวม ความศรัทธา ความเคารพ