ขั้นตอนการตรวจสอบสภาพอาคารก่อนทำการอนุรักษ์(Conservation) หรือปรับปรุง (Renovation) |
เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลพื้นฐาน อันเป็นสิ่งสำคัญในการวางแผนการอนุรักษ์ เพื่อรักษาหรือคงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มากที่สุด ทั้งยังทราบถึงคุณค่าของอาคารในยุคสมัยที่ผ่านมา ที่มีต่อตัวอาคารเอง หรือต่อชุมชน การศึกษานี้ต้องครอบคลุมทั้งหลักฐาน เอกสาร และคำบอกเล่า ระบุไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอาคาร พื้นที่ และชุมชน
การสำรวจอาคารเพื่อตรวจสอบสภาพความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร และสภาพความสมบูรณ์ของศิลปกรรมภายในอาคาร การสำรวจอาคารต้องใช้วิธีการที่ละเอียดรอบคอบและเป็นระบบ โดยเริ่มตรวจสภาพจากพื้นที่ สภาพภายนอกอาคาร อันได้แก่หลังคา ผนัง ฐาน ประตูหน้าต่าง และส่วนประดับตกแต่งอาคาร ไปสู่ส่วนที่อยู่ภายในตัวอาคาร โดยเริ่มจากพื้น ผนัง และโครงสร้างหลังคา การสำรวจควรทำการบันทึกสภาพความเสียหายทุกส่วนของอาคาร รายละเอียดและวิธีการให้เป็นไประบบการตรวจสอบที่กำหนดขึ้นเฉพาะงานหรือโครงการ (ดูรายละเอียดในหน้าถัดไป) ข้อมูลการสำรวจที่ได้มา นอกจากจะใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการทำงานขั้นตอนต่อไปแล้ว ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอาคารในระยะต่อไป
จากข้อมูลการสำรวจ ทำให้ทราบปัญหาของอาคารในแง่ความชำรุดเสียหายที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซม เพื่อพิจารณาความเร่งด่วนในการบูรณะซ่อมแซม โดยพิจารณาให้ความเร่งด่วนในส่วนของโครงสร้างอาคารเป็นอันดับต้น เช่นพื้น หลังคา โดยเฉพาะการรั่วของหลังคาที่ทำให้น้ำฝนเข้ามาทำลายส่วนต่างๆในอาคารได้ พื้นที่ทรุดตัวต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นการทรุดตัวของพื้นเองหรือเกิดเพราะฐานราก เสาและคานทรุดตัวด้วย จากนั้นจึงสำรวจองค์ประกอบอื่นๆของอาคารและพื้นที่โดยรอบ ที่ชำรุดหรือหลุดหายไป เช่น ช่อฟ้า ลวดลายปูนปั้นหรือไม้แกะสลักประดับอาคาร ภาพเขียนหรือลวดลายสีที่เขียนผนัง วัสดุปิดผิวต่างๆเช่น ปูนฉาบ กระเบื้องปูพื้น หรือบุผนัง ตลอดจนงานระบบต่างๆ เช่นไฟฟ้า ประปา การสรุปแนวทางและขั้นตอนการบูรณะจำเป็นต้องมีขั้นตอนที่ลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อความมั่นคงแข็งแรง ก่อนทำการอนุรักษ์ในส่วนรายละเอียดตกแต่ง หรือการปรับปรุงอาคารต่อไป
เมื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆได้ครบถ้วนตลอดจนขั้นตอนหรือลำดับความจำเป็นในการซ่อมแซมอาคารและพื้นที่มาแล้ว ก็สามารถนำมาวิเคราะห์ตามลักษณะเฉพาะของอาคาร ซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละหลังเพื่อสรุปเป็นแนวทางในการอนุรักษ์อาคารนั้นได้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแข็งแรง ความถูกต้องของรายละเอียดอาคาร สภาพแวดล้อม สอดคล้องกับหลักสากลตามกฎบัตรนานาชาติในการอนุรักษ์ และเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ การตระหนักถึงคุณค่าของพื้นที่หรืออาคารอนุรักษ์ของเจ้าของอาคารและชุมชนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การทำงานอนุรักษ์ได้ผลดี และรักษาสภาพให้คงอยู่อย่างยาวนานต่อไป |