การทำงานที่เกี่ยวข้องกับฐานานุศักด์สถาปัตยกรรม (วัด, วัง)
 
 การใช้พื้นที่ของวัด

วัดโดยทั่วไปนิยมแบ่งเขตพื้นที่ภายในออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ

1. เขตพุทธาวาส

2. เขตสังฆาวาส

3. เขตธรณีสงฆ์

 

เขตพุทธาวาส

เป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งสถานที่ประทับขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำว่าพุทธาวาส มีความหมายเป็น สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า (พุทธาวาส = พุทธะ+อาวาส) เขตพุทธาวาสมักประกอบด้วยสถาปัตยกรรมหลักสำคัญๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์และพิธีกรรมต่างๆ คือ

ภาพจำลองเขตพุทธาวาส

1. พระเจดีย์ พระมณฑป พระปรางค์

    : อาคารที่สร้างเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางหลักของวัด

2. พระอุโบสถ

    : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการทำสังฆกรรม

3. พระวิหาร

   : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส

4. เจดีย์ (มณฑป, ปรางค์)ราย, เจดีย์ (มณฑป, ปรางค์)ทิศ

   : อาคารที่ใช้บรรจุอัฐิ หรือประกอบเพื่อให้ผังรวมสมบูรณ์

5. หอระฆัง

    : อาคารที่ใช้เป็นเครื่องตีบอกเวลาสำหรับพระภิกษุสงฆ์

6. ศาลาต่างๆ เช่น

     - ศาลาราย : อาคารที่ใช้เป็นที่นั่งพักของผู้มาเยือน

     - ศาลาทิศ : อาคารที่ใช้ล้อมอาคารสำคัญสำหรับให้คฤหัสถ์นั่งพัก หรือประกอบเพื่อให้ผังรวมสมบูรณ์

7. พระระเบียง : อาคารที่ล้อมอาคารหลักสำคัญหรือล้อมแสดงขอบเขตแห่งพุทธาวาส

8. พลับพลาเปลื้องเครื่อง

     : อาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่พระมหากษัตริย์เปลี่ยนฉลองพระองค์ในวาระที่เสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล

พระเจดีย์ พระปรางค์ และพระมณฑปถือเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดในฐานะหลักประธานของวัด จึงมักถูกวางตำแหน่งลงในผังตรงส่วนที่สำคัญที่สุดของเขตพุทธาวาส เช่น บริเวณกึ่งกลางหรือศูนย์กลางหรือแกนกลางของผัง อาคารสำคัญรองลงมากลุ่มแรกคือ พระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งอาคารทั้ง 2 ประเภทนี้มักใช้ประกอบคู่กันกับพระเจดีย์เสมอ หรืออาจใช้ประกอบร่วมกันทั้ง 3 ประเภท คือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร ทั้งนี้เนื่องเพราะอาคารทั้ง 2 ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พระอุโบสถหรือพระวิหารจึงมักวางทางด้านหน้าของพระเจดีย์เสมอในลักษณะของแนวแกนดิ่ง เพื่อว่าเวลาประกอบพิธีกรรม ทุกผู้ทุกนาม ณ ที่นั้นจะได้หันหน้าไปยังพระองค์ และถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีการใช้ประกอบร่วมกันทั้ง 3 อย่างก็ตาม อาทิเช่น พระวิหารวางด้านหน้าสุด มีพระเจดีย์อยู่กลาง และพระอุโบสถอยู่ด้านหลัง ตัวพระอุโบสถด้านหลังนั้น ก็มักจะหันส่วนหน้าของอาคารไปทางด้านหลังด้วย เพื่อว่าเวลาที่เข้าไปทำสังฆกรรม จะยังคงสามารถหันหน้าเข้าสู่องค์พระเจดีย์ได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามตำแหน่งของอาคารก็ไม่มีข้อกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวเสมอไป(ยกเว้นพระเจดีย์ ที่ยังคงตั้งอยู่ในตำแหน่งหลัก) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวความคิดและคตินิยมของแต่ละสมัยเป็นปัจจัยสำคัญ

สำหรับอาคารประเภทอื่นๆ เช่น พระระเบียง ศาลาราย จะปรากฏร่วมในผังในลักษณะอาคารรองกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบที่สร้างให้ผังมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของประโยชน์ใช้สอย หรือในเชิงความหมายของสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อก็ตาม โดยมักปรากฏในลักษณะที่โอบล้อมกลุ่มอาคารหลักประธานสำคัญเหล่านั้น

 

เขตสังฆาวาส 

 หมายถึงขอบเขตบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัด ที่กำหนดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีการใดทางศาสนาโดยตรง คำว่า สังฆาวาส มาจาก สงฆ์ + อาวาส แปลว่า ที่อยู่แห่งหมู่สงฆ์ พื้นที่บริเวณนี้จึงมักมีขอบเขตที่มิดชิดและประกอบไปด้วยอาคารสถาน ที่สัมพันธ์เฉพาะกับกิจกรรมและวัตรปฏิบัติที่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของเพศสมณะเท่านั้น อันได้แก่

1.  กุฏิ : อาคารที่ใช้สำหรับอาศัยหลับนอน

2.  กัปปิยกุฎี : โรงเก็บอาหาร

3.  หอฉัน : อาคารที่ใช้เป็นที่ฉันภัตตาหาร

4.  วัจจกุฎี : อาคารสำหรับใช้ขับถ่าย

5.  ศาลาการเปรียญ

     : อาคารที่ใช้เป็นที่เรียนหนังสือของพระสงฆ์

6.  หอไตร : อาคารที่ใช้เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา

7.  ชันตาฆร : โรงรักษาไฟและต้มน้ำ

8.  ธรรมศาลา : โรงเทศนาธรรม

9.  ห้องสรงน้ำ : ห้องชำระกาย

10. ศาลาท่าน้ำ : อาคารท่าน้ำและทางเข้าวัดทางน้ำ

 ภาพจำลองเขตสังฆาวาส

กุฏิถือเป็นอาคารหลักสำคัญ โดยมีอาคารประเภทอื่นประกอบเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกัน ส่วนใหญ่ไม่มีกฎเกณฑ์การวางผังมากนัก นอกจากบางประเภทของวัด ชั้นของวัด ที่ตั้ง รวมทั้งขนาดยังมีผลต่อการจัดวางผังของเขตนี้ กล่าวคือหากเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในแถบถิ่นชนบท นิยมวางตัวกุฏิกระจายตัวเป็นหลังๆ อาคารที่เป็นองค์ประกอบรองหลังอื่นๆ ก็จะจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้สอยของพระภิกษุ ส่วนใหญ่จะจัดกุฏิให้อยู่เป็นกลุ่ม โดยอาจแยกเป็นหลังๆหรือต่อเชื่อมด้วยชานเป็นหมู่หรือคณะฯ มีหอฉันอยู่ตรงกลางชาน ถัดเลยออกมาก็จะเป็นเรือนเว็จกุฎี ซึ่งปัจจุบันอาจรวมเข้ากับห้องสรงน้ำและมักสร้างต่อเรียงเป็นแถวๆ

สำหรับกัปปิยกุฎีหรือโรงเก็บอาหารก็มักรวมเข้ากับเรือนชันตาฆรเป็นอาคารหลังเดียวกัน โดยอาจมีเพียงจุดเดียวรวมกันสำหรับวัดขนาดเล็ก หรือแยกเฉพาะตามหมู่หรือคณะสำหรับวัดขนาดใหญ่

ส่วนหอไตรก็จะแยกออกไปตั้งเดี่ยวอยู่กลางสระน้ำใหญ่ เช่นเดียวกับศาลาการเปรียญที่มักตั้งอยู่ในตำแหน่งที่พระสงฆ์ทั้งปวงสามารถเข้ามาใช้สอยได้อย่างสะดวกทั่วถึง ขณะเดียว กันก็สามารถเอื้อต่อประชาชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย มักวางอยู่ด้านหน้าเขตสังฆาวาส หรือบริเวณส่วนที่ต่อกับเขตพุทธาวาส หรืออาจอยู่ทางด้านข้างของเขตธรณีสงฆ์ ที่ประชาชนสามารถเข้ามาได้ง่าย ส่วนธรรมศาลา จะมีขึ้นหากวัดนั้นไม่มีศาลาการเปรียญ

 แต่สำหรับวัดขนาดใหญ่ ผังเขตสังฆวาสค่อนข้างจะมีระเบียบแบบแผนชัดเจน โดยเฉพาะวัดหลวงจะมีการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งและระบบของโครงสร้างผังอย่างตั้งใจ ด้วยการแบ่งเป็น คณะ โดยแบ่งขนาดตามจำนวนพระสงฆ์และองค์ประกอบย่อย เช่น หอฉัน หอไตร เว็จกุฎี กัปปิยกุฎี ฯลฯ ของแต่ละคณะ

 

เขตธรณีสงฆ์ 

หมายถึงเขตพื้นที่ในพระอารามที่วัดกำหนดพื้นที่บางส่วนที่เหลือจากการจัดแบ่งเขตสำคัญ คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส ให้เป็นเขตพื้นที่สำหรับเอื้อประโยชน์ใช้สอยในเชิงสาธารณะประโยชน์ในลักษณะต่างๆของวัด เช่น

- ใช้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างความร่มรื่นให้วัด

- ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารอื่นๆ เช่น สร้างเมรุสำหรับฌาปนกิจศพชุมชน  

- ตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่สังคม

- แบ่งเป็นพื้นที่ให้คฤหัสถ์เช่าเพื่อใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน อาทิการสร้างตึกแถว หรือทำเป็นตลาด เป็นต้น

 

(หน้าต่อไป)