<
>
Welcome to Montri ngaodet 's Web
การส่องสว่างภายในอาคารสำนักงาน บ้านอยู่อาศัย โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน สามารถประหยัดพลังงานแสงสว่างได้มากเมื่อเทียบกับการส่องสว่างภายในอย่างอื่น การส่องสว่างภายในอาคารมีความสำคัญสองประการ คือ การให้แสงสว่างเพื่อใช้งานได้สะดวกสบาย และ การให้แสงเพื่อให้เกิดความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการส่องสว่างแบบใดก็ตามก็ต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงานแสงสว่างด้วยสำหรับในยุคปัจจุบันที่พลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นและหายากยิ่ง
เนื้อหาที่กล่าวถึงในบทนี้มีความประสงค์ให้ศึกษาแสงสว่างเพื่อการใช้งานแต่ละสถานที่ว่าประกอบด้วยแสงสว่างเพื่อการใช้งานแต่ละประเภทอย่างไร เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้หรือเลือกใช้เพื่อการประหยัดพลังงานอย่างถูกต้อง เพราะการประหยัดพลังงานแสงสว่างที่ถูกต้อง ต้องไม่ให้เกิดความสูญเสียทางด้านอื่นด้วย เช่น ประหยัดพลังงานแล้วทำให้ธุรกิจสูญเสียรายได้จำนวนมาก หรือประหยัดพลังงานแล้วทำให้เกิดความเสี่ยงสูงในการทำงานที่ทำให้เกิดอันตรายสูง เป็นต้น ดังนั้นเนื้อหาการประยุกต์ใช้งานในบทนี้เปรียบเสมือนการกล่าวถึงการให้แสงสว่างที่มีทั้งการให้ความส่องสว่างมากพอสำหรับการทำงาน การให้แสงสว่างเพื่อความสวยงามด้วย ดังนั้นผู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความประหยัดพลังงานก็ต้องพิจารณาเลือกใช้เพื่อให้เข้ากับการงานของตนเอง
การส่องสว่างภายในเพื่อให้ใช้งานได้นั้น หมายถึง ต้องให้ได้ระดับความส่องสว่างอยู่ในเกณฑ์ที่ทำงานได้โดยไม่ต้องทำให้เพ่งสายตามากเกินไป ส่วนการส่องสว่างให้เกิดความสวยงามนั้นก็ต้องอาศัยความมีศิลป์ในตัวเพื่อพิจารณาในแง่การให้แสงแบบเอฟเฟค (Effect Lighting) หรือการให้แสงแบบส่องเน้น (Accent Lighting)
ระบบการให้แสงสว่างนั้นขึ้นอยู่กับการใช้งานของห้อง ผู้อยู่ในห้อง การมองเห็น และสไตล์การตกแต่ง ระบบการให้แสงสว่างโดยพื้นฐานประกอบด้วย ระบบการให้แสงหลัก (Primary Lighting System) และระบบการให้แสงรอง (Secondary Lighting System)
ระบบการให้แสงหลัก ซึ่งหมายถึงแสงสว่างพื้นฐานที่ต้องใช้เพื่อการใช้งานซึ่งแยกออกได้เป็นระบบต่างๆดังนี้
ก) แสงสว่างทั่วไป (General Lighting) คือ การให้แสงกระจายทั่วไปเท่ากันทั้งบริเวณพื้นที่ใช้งาน ซึ่งใช้กับการให้แสงสว่างไม่มากเกินไป แสงสว่างดังกล่าวไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงามมากนัก ดังนั้นการประหยัดพลังงานสามารถทำได้ในแสงสว่างทั่วไปนี้
ข) แสงสว่างเฉพาะที่ (Localized Lighting) คือ การให้แสงสว่างเป็นบางบริเวณเฉพาะที่ทำงานเท่านั้น เพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องให้สม่ำเสมอเหมือนแบบแรก เช่น การให้แสงสว่างจากฝ้าเพดานโดยติดตั้งเฉพาะเหนือโต๊ะหรือบริเวณใช้งานให้ได้ความส่องสว่างตามต้องการ การให้แสงสว่างลักษณะนี้ประหยัดกว่าแบบ ก) ข้างต้น
ค) แสงสว่างเฉพาะที่และทั่วไป (Local Lighting + General Lighting) คือ การให้แสงสว่างทั้งแบบทั่วไปทั้งบริเวณ และเฉพาะที่ที่ทำงาน ซึ่งมักใช้กับงานที่ต้องการความส่องสว่างสูงซึ่งไม่สามารถให้แสงแบบแสงสว่างทั่วไปได้เพราะเปลืองค่าไฟฟ้ามาก เช่น การให้แสงสว่างจากฝ้าเพดานเพื่อส่องบริเวณทั่วไป และที่โต๊ะทำงานติดโคมตั้งโต๊ะส่องเฉพาะต่างหากเพื่อให้ได้ความส่องสว่างสูงมากตามความต้องการของงาน
ระบบการให้แสงสว่างหลัก คือ การออกแบบระบบแสงสว่างให้มี
ความส่องสว่างเพียงพอตามมาตรฐานเพื่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่นั้นๆ
ระบบการให้แสงรอง หมายถึงการให้แสงนอกเหนือจากการให้แสงหลักเพื่อให้เกิดความสวยงามเพื่อความสบายตา ซึ่งแยกออกได้ดังนี้
ก) แสงสว่างแบบส่องเน้น (Accent Lighting) เป็นการให้แสงแบบส่องเน้นที่วัตถุใดวัตถุหนึ่งเพื่อให้เกิดความสนใจ โดยทั่วไปแสงประเภทนี้ได้มาจากแสงสปอต
ข) แสงสว่างแบบเอฟเฟค (Effect Lighting) หมายถึงแสงเพื่อสร้างบรรยากาศที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้ส่องเน้นวัตถุเพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่นโคมที่ติดตั้งที่เพดานเพื่อสร้างรูปแบบของแสงที่กำแพง เป็นต้น
ค) แสงสว่างตกแต่ง (Decorative Lighting) เป็นแสงที่ได้จากโคมหรือหลอดที่สวยงามเพื่อสร้างจุดสนใจในการตกแต่งภายใน
ง) แสงสว่างงานสถาปัตย์ (Architectural Lighting) บางทีก็เรียก Structural Lighting ให้แสงสว่างเพื่อให้สัมพันธ์กับงานทางด้านสถาปัตยกรรม เช่น การให้แสงไฟจากหลืบ การให้แสงจากบังตา หรือการให้แสงจากที่ซ่อนหลอด
จ) แสงสว่างตามอารมณ์ (Mood Lighting) แสงสว่างประเภทนี้ไม่ใช่เทคนิคการให้แสงพิเศษแต่อย่างใด แต่อาศัยการใช้สวิตช์หรือตัวหรี่ไฟเพื่อสร้างบรรยากาศของแสงให้ได้ระดับความส่องสว่างตามการใช้งานที่ต้องการ
ระบบการให้แสงสว่างรอง คือ การออกแบบให้มีแสงสว่างให้เกิด
ความสวยงาม หรือเน้นเพื่อให้เกิดความสนใจ สบายตา และอารมณ์
ระบบการให้แสงสว่างหลัก หมายถึงการให้แสงสว่างให้เพียงพอเพื่อการใช้งาน เช่น ห้องทำงานต้องให้ความสว่างที่โต๊ะทำงานให้มีความส่องสว่างอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 500 ลักซ์ เป็นต้น เมื่อได้ความส่องสว่างที่โต๊ะทำงานแล้วบริเวณที่เหลือ เช่นการส่องสว่างที่ผ้าม่านเพื่อให้เกิดวงแสงหรือรูปแบบของแสง หรือการส่องสว่างเน้นที่ต้นไม้ที่ปลูกในกระถางภายในห้องก็เป็นแสงสว่างรอง คือ เป็นการให้แสงเพื่อความสวยงาม เป็นต้น
1 การส่องสว่างในบ้านอยู่อาศัย อพาร์ตเมนต์ และ โรงแรม
การส่องสว่างภายในบ้านอยู่อาศัย อพาร์ตเมนต์ และโรงแรม ไม่จำเป็นต้องให้มีแสงสว่างสม่ำเสมอ การให้แสงสว่างต้องระวังในเรื่องของความสวยงามประกอบด้วย เพราะบางครั้งการเน้นในเรื่องของการประหยัดพลังงานอาจทำให้เกิดการสูญเสียในเรื่องของความสวยงามด้วย
การเน้นทางด้านการประหยัดพลังงานมากเกินไป
อาจทำให้เกิดการสูญเสียในเรื่องความสวยงาม
การส่องสว่างภายในบ้านอยู่อาศัย อพาร์ตเมนต์ และโรงแรมควรให้แสงแบบอบอุ่น ดังนั้นส่วนใหญ่จึงใช้แสงสีเหลืองจากหลอดอินแคนเดสเซนต์ ฮาโลเจน หรือหลอดคอมแพคท์แบบวอร์มไวท์ (Warm White) เพราะมีสีเหลืองคล้ายกัน
หลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์ ถือว่าเป็นหลอดประหยัดพลังงานแสงสว่างแทนหลอดอินแคนเดสเซนต์ หรือฮาโลเจนได้ แต่อาจต้องระวังคือ หลอดคอมแพคท์ไม่สามารถทำเป็นไฟส่องเน้นได้ดีเหมือนหลอดอินแคนเดสเซนต์ เพราะแหล่งกำเนิดแสงมีขนาดใหญ่
กรณีที่เป็นทางเดินหรือใช้ภายนอกซึ่งต้องมีการเปิดไฟแสงสว่างทิ้งไว้ทั้งคืนก็ควรใช้หลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์หรือฟลูออเรสเซนต์ เพราะอายุการใช้งานนานกว่าหลอดมีไส้ถึง 4-8 เท่า
แสงจากหลอดที่ให้แสงสีเหลืองดูน่าอบอุ่นสำหรับบ้าน และ โรงแรม
ความส่องสว่างโดยทั่วไปที่ใช้ในบ้านอยู่อาศัย อพาร์ตเมนต์ และ โรงแรมใช้ประมาณ 100-200 ลักซ์สำหรับพื้นที่ทั่วๆไป
ความส่องสว่างสำหรับพื้นที่ทั่วไปใช้ 100-200 ลักซ์
ความส่องสว่างพื้นที่ต่างๆในบ้านอยู่อาศัยและพื้นที่ข้างเคียงกำหนดไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการให้แสงสว่างดังแสดงในตารางที่ 5.1 และ ความสัมพันธ์ระหว่างความส่องสว่างในพื้นที่ทำงาน และ พื้นที่ข้างเคียงได้กำหนดไว้ในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ความส่องสว่างในพื้นที่ใช้งานต่างๆในบ้านอยู่อาศัย
ตารางที่ 5.2 ความสมดุลระหว่างความส่องสว่างของพื้นที่ใช้งานและข้างเคียง
เทคนิคการให้แสงสว่างในบ้าน อพาร์ตเมนท์ โรงแรมในพื้นที่ต่างๆเพื่อการประหยัดพลังงานสามารถสรุปได้ดังนี้
ก) การใช้โคมไฟส่องลง
ข) การให้แสงสว่างจากไฟหลืบ
ค) การให้แสงสว่างในห้องน้ำ
ง) การให้แสงสว่างในห้องครัว
จ) การให้แสงในห้องนอน
ฉ) การให้แสงสว่างทางเดิน
ก) การใช้โคมไฟส่องลง สำหรับความสูงฝ้า 2.5 เมตร ถ้าเป็นงานที่ต้องการแสงสีที่ไม่เพี้ยนก็ใช้อินแคนเดสเซนต์ใช้ประมาณ 10 วัตต์/ตารางเมตร/100 ลักซ์ แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องการประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะโคมไฟที่ต้องเปิดทิ้งไว้นาน ใช้โคมไฟส่องลงหลอดคอมแพคท์ใช้ไฟฟ้าประมาณ 3 วัตต์/ตารางเมตร/100 ลักซ์
ถ้าต้องการติดตั้งโคมไฟส่องลงหลอดคอมแพคท์ฟลูออเรสเซนต์ต้องระวังเรื่องความใหญ่ของโคมด้วย ตัวอย่างเช่นหลอดคอมแพคท์ที่ให้แสงปริมาณเดียวกับหลอดอินแคนเดสเซนต์ 100 วัตต์ GLS คือ หลอด 18 วัตต์ ซึ่งโคมสำหรับหลอดคอมแพคท์ 18 วัตต์ มีขนาดใหญ่กว่าเมื่อใช้หลอดมีไส้มาก ดังนั้นอาจต้องลดขนาดวัตต์ลงมาเพื่อไม่ให้โคมดูใหญ่น่าเกลียดและอาจได้วัตต์ที่เหมาะสมกับขนาดของโคมที่ต้องการคือ 10, 13, 2x7, 2x9 เป็นต้น แต่ทั้งนี้ควรเช็คขนาดของโคมให้แน่ใจเสียก่อน
การเลือกโคมไฟส่องลงที่ใช้หลอดคอมแพคท์ต้องระวัง
เรื่องความใหญ่ของโคมบนฝ้าด้วย อาจทำให้ต้องเลือกวัตต์ต่ำ และใช้หลายโคมแทน
สำหรับการเลือกขนาดวัตต์ของโคมเพื่อการใช้งานอาจใช้หลักการง่ายๆสำหรับพื้นที่ไม่สำคัญ เช่น ทางเดิน โดยใช้ 3 วัตต์/ตารางเมตร/100ลักซ์ สำหรับความสูงฝ้า 2.5 เมตร เช่น ทางเดินขนาด 2x12 เมตรถ้าเลือกหลอดขนาด 10 วัตต์ และต้องการความส่องสว่างที่ประมาณ 50 ลักซ์ ก็ใช้วัตต์โดยประมาณ 2x12x1.5 = 36 วัตต์ ดังนั้นใช้โคมไฟส่องลงหลอดคอมแพคท์ 10 วัตต์ 4 โคม เป็นต้น
การเลือกโคมไฟส่องลงหลอดคอมแพคท์นั้นมีทั้งชนิดหลอดติดตั้งในแนวนอน และหลอดติดตั้งในแนวตั้ง โคมที่มีหลอดติดตั้งในแนวนอนมักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแสงบาดตา แต่มักมีปัญหาเรื่องขนาดของโคมจะใหญ่ แต่ถ้าเป็นโคมที่หลอดติดตั้งในแนวตั้ง ขนาดของโคมไม่ใหญ่มากนัก แต่มักมีปัญหาเรื่องแสงบาดตาที่ต้องพิถีพิถันในการเลือกโคมพอสมควร
โคมที่มีหลอดติดตั้งในแนวนอน มักมีขนาดใหญ่ แต่ไม่มีปัญหาเรื่องแสงบาดตา
โคมที่มีหลอดติดตั้งในแนวตั้งมักมีปัญหาเรื่องแสงบาดตา แต่โคมมีขนาดเล็กลง
ความสูงฝ้าที่ใช้ในการคำนวณที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 2.4-2.7 เมตร เท่านั้น ถ้าใช้ความสูงฝ้ามากกว่านี้ก็ต้องมาคำนวณ หรืออาจใช้ตารางสำเร็จรูปที่กำหนดโดยผู้ผลิต เช่น ห่างจากโคมระยะเท่าใดได้ความส่องสว่างเท่าใด ความส่องสว่างเพื่อการใช้งานนั้นเป็นค่าที่กำหนดเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานโดยประมาณเท่านั้น เช่นต้องการ 100 ลักซ์ตามมาตรฐานแต่ในทางปฏิบัติอาจได้ 80 หรือ 120 ลักซ์ก็ถือว่ายังใช้ได้ ยกเว้นพื้นที่ที่ต้องการความส่องสว่างสูงที่ต้องระวังต้องไม่ให้น้อยเกินไปเพราะความส่องสว่างไม่พอใช้งาน หรือความส่องสว่างมากเกินไปก็ทำให้เกิดความสิ้นเปลือง
ข) การให้แสงสว่างจากไฟหลืบ เป็นการให้แสงที่ต้องการแสงนิ่มนวล แต่การให้แสงแบบนี้ไม่ประหยัดพลังงานเพราะแสงที่เล็ดลอดออกมาค่อนข้างน้อย หลืบควรมีช่องเปิดที่ไม่เล็กเกินไป ถ้าต้องการประหยัดพลังงานไม่ควรใช้การให้แสงแบบนี้
การให้แสงสว่างจากไฟหลืบไม่ประหยัดพลังงาน
แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรให้ช่องเปิดแสงใหญ่เพื่อไม่เปลืองมากเกินไป
ติดต่อ ผศ.มนตรี เงาเดช
montri@rmutl.ac.th / montri2007@gmail.com
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่
สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์
เจ็ดลิน : 128 ถนนห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300 โทรศัพท์ 0-5392-1444 ต่อ 2124 โทรสาร 0-5321-3183
เจ็ดยอด : 95 ถนนเชียงใหม่-ลำปาง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300โทรศัพท์ 0-5341-4250 - 2 โทรสาร 0-5341-4253
[ Since 06 / 09 / 2015 ]
Copyright © 2015 by montri. All Rights Reserved.
System Requirement :: Internet Explorer or Netscape Navigator or Google Chrome | 1024x768 Resolution