Welcome to Montri ngaodet 's Web

คำไว้อาลัย รศ.ดร.ชำนาญ ห่อเกียรติ

 

ชำ แรกแตกกิ่งก้าน สาขา

นาญ เนิ่นบ่เลิกรา ละลด

ห่อ หุ้มด้วยเมตตา แด่ศิษย์

เกียรติ ศักดิ์ขจรยิ่งยศ ฝากไว้ ไม่เลือน

 

ฺํBy : โครงการพัฒนาความชำนาญด้านไฟฟ้ากำลัง http://psdp.eng.ku.ac.th/

 

รศ.ดร.ชำนาญ ห่อเกียรติ

แกนประสานมาตรฐานฯทางไฟฟ้า เฟืองเล็กทรงพลัง

ครั้งแรกที่เราจะมีมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย โดยความร่วมมืออันดีจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้น คือ รศ.ดร.ชำนาญ ห่อเกียรติ ผู้อุทิศให้กับงานนี้อย่างหมดตัวหมดใจ ด้วยตระหนักว่ามาตรฐานทางไฟฟ้าฯ จะทำให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีแนวทางในการพัฒนาวิศวกรรมไฟฟ้าอย่างเป็นเอกภาพ

 

* บอกลางานบริหาร มุ่งหน้าสู่งานเพื่อสังคม

 

รศ.ดร.ชำนาญ สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี

พ.ศ.2514 จากนั้นเข้าทำงานเป็นอาจารย์ ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เมื่อปี พ.ศ.2515 เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ University Of Missouri-Rolla สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาทำงานที่ ม.เกษตรศาสตร์อีกครั้ง

"เคยเป็นหัวหน้าที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสองครั้ง หลังจากนั้นก็เลิกเพราะไม่อยากทำงานบริหาร พอมาจับงานทางด้านวิชาการทำๆ ไปก็รู้สึกว่าเราถูกระบบหลอกหรือเปล่า หลอกให้เราขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ พออายุสัก 30 ปี ขอแค่รองศาสตราจารย์แล้วก็เลิก หันมาทำงานเพื่อสังคม ตำแหน่งทางบริหารก็เลิก เพราะคิดว่ามีคนอาสามากแล้ว

"ช่วงแรกที่มีโอกาสก้าวเข้ามาร่วมงานกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) ประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าดูด ไฟฟ้ารั่ว หรือไฟไหม้ ก็เริ่มมองเห็นว่าประเทศไทยไม่มีมาตรฐานที่ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางด้านไฟฟ้าเป็นของ ตนเองเหมือนกับต่างประเทศ จึงมีแนวคิด ที่ว่าเราควรจะมีมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านไฟฟ้าขึ้นใช้ภายในประเทศ เพื่อมิให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากความผิดพลาดของวิศวกร ผู้รับเหมาและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เนื่องจากไม่มีมาตรฐานอ้างอิง"

 

ปี'38 ว.ส.ท.รวมกฎ กฟน.และ กฟภ. เป็นคัมภีร์เล่มเดียว

 

แต่เดิมมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้ามีด้วยกันหลายแห่ง ซึ่ง ว.ส.ท. ก็เคยจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของ

ตนเองขึ้น แต่ก็ถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนมากกว่าที่จะนำมาใช้งาน

 

"ปัญหาในตอนนั้นคือ ประเทศไทย มีมาตรฐานในการติดตั้งไฟฟ้าหลายฉบับ ทั้งของ ว.ส.ท. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียดสำหรับการออกแบบและติดตั้งไม่เพียงพอ ผู้ออกแบบจึงต้องค้นคว้าข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส หรือมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

"การที่ประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนามาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าขึ้นเป็นมาตรฐานของตน ส่งผลให้วิศวกรหันไปใช้มาตรฐานจากหลายประเทศที่มีความละเอียดกว่า ประกอบกับอาจารย์ผู้สอนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าที่แตกต่างกัน และมักถ่ายทอดมาตรฐานที่ตนเองถนัด ทำให้วิศวกรมีความรู้ แตกต่าง เมื่อมาปฏิบัติงานร่วมกันจึงมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะไม่สามารถอ้างอิงมาตรฐานได้ชัดเจน ส่งผลให้งานล่าช้า

 

"ในปี พ.ศ.2537 ว.ส.ท.ได้ดำเนินการประสานงานโดยนำกฎการเดินสายของการไฟฟ้าทั้งสองแห่งมารวมกันเป็นมาตรฐานของ ว.ส.ท. แล้วก็ยกเลิกมมาตรฐานเดิมของว.ส.ท. หลังจากนั้นก็พยายามชักชวนวิศวกรทั่วประเทศให้หันมาใช้มาตรฐานเล่มเดียวกัน โดยที่เนื้อหายังคงเป็นกฎการเดินสายของการไฟฟ้าทั้งสองแห่ง"

 

* แตกต่างแต่ไม่แตกแยก

 

ปี พ.ศ.2541 ว.ส.ท. ในฐานะผู้ประสานงาน ก็ได้มีความพยายามที่จะรวมเนื้อหากฎการเดินสายของการไฟฟ้าทั้งสองแห่งเป็นมาตรฐานเดียว โดยเพิ่มเติมมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเข้าด้วย เช่น วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต และมาตรฐานไฟฟ้าสำหรับอาคารใต้ดิน ไฟฟ้าชั่วคราว เป็นต้น

 

"การไฟฟ้าทั้งสองแห่งให้ความร่วมมือดีมาก ผู้ว่าการทั้งสององค์กรหลายสมัยต่างมีวัตถุประสงค์ให้รวมมาตรฐานเป็นเล่มเดียวกัน แต่การทำมาตรฐานฯ ในช่วงแรกเป็นเรื่องยาก เพราะโครงสร้างมาตรฐานไม่ได้มีการกล่าวถึง หรือสร้างมาแต่แรก ตัวมาตรฐานก็ถูกพัฒนามาในแนวทางที่ต่างกัน บางแห่งมีรากฐานมาจากอเมริกา บางแห่งมาจากยุโรป พอจับมารวมกันก็ยากที่จะเข้ากันได้

 

"ทิศทางในระดับประเทศก็ไม่มีความชัดเจน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ประกาศลงไปว่าประเทศไทยจะอิงมาตรฐานอะไรเป็นหลัก ปล่อยให้ซึมซับกันเอง อาจเป็นเพราะเกรงว่าจะเกิดการต่อต้านจากบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านนี้ ทำให้การดำเนินการเรื่องมาตรฐานฯ เกิดความล่าช้า

 

"เราพยายามทำเป็นขั้นตอน เชิญตัวแทนจากองค์กรที่เกี่ยวกับมาประชุม จนได้เป็นมาตรฐานปี พ.ศ.2543 จากนั้น

มีการปรับปรุงเนื้อหาโดยจัดสัมมนามาตรฐาน การติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศสี่ภาคทั่วประเทศ คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นและรับทราบปัญหาที่ควรแก้ไขเกี่ยวกับร่างมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยที่นำมารวมกัน จากนั้นจึงปรับปรุงแก้ไขจนออกมาเป็นมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ฉบับสมบูรณ์ ปี พ.ศ.2545 ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา"

 

* บทใหม่ของมาตรฐานฯ

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย เน้นด้านการออกแบบ ติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงต่ำที่ใช้ในบ้านที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์และที่ใช้ภายนอกอาคาร นอกจากนี้ยังรวมมาตรฐานการใช้ไฟฟ้าชั่วคราว ซึ่งเดิมผู้คนได้รับอันตรายอย่างมากจากระบบไฟฟ้าชั่วคราวดังกล่าว อีกทั้งมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยยังเน้นถึงความปลอดภัยในด้านการติดตั้งระบบป้องกันไฟรั่วและการเดินสายดินด้วย

"เรื่องของการเดินสายดินนั้นค่อนข้างมีปัญหาในการดำเนินการรวมมาตรฐาน เพราะ กฟน. เขาบอกว่าให้มีแต่ กฟภ. เขาเป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งอาจจะเป็นภาระค่าใช้ ตอนหลังจึงตกลงกันว่า เรื่องความปลอดภัยสำคัญกว่าจึงกำหนดให้มีสายดินขึ้น แต่ก็จะผ่อนผันให้ในบางกรณี

 

"อีกเรื่องที่ผมเห็นความสำคัญคือ เครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่ว ซึ่งต้องติดตั้งในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้ารั่วและอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินและความปลอดภัยของบุคคล เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องใต้ดิน หรือเครื่องทำน้ำอุ่น และอ่างน้ำวน ตลอดจนการใช้ไฟฟ้านอกอาคาร วงจรแสงสว่างที่แสดงขอบเขตของสถานีก่อสร้าง รวมถึงวงจรไฟป้ายโฆษณาเคลื่อนที่ชั่วคราว เป็นต้น ซึ่งในมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฉบับใหม่ก็ได้มีข้อบังคับไว้ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเช่นกัน

"เครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วจะมีลักษณะการทำงานคล้ายกับ Safety Cut ที่รู้จักกันดี แต่การทำงานของเครื่องป้องกันไฟฟ้ากับ Safety Cut มีความแตกต่างกัน เนื่องจาก Safety Cut จะติดตั้งที่ต้นทางกระแสไฟฟ้า และเมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วหรือไฟฟ้าเกิน Safety Cut จะตัดกระแสไฟฟ้าทั้งวงจร แต่เครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วนั้นจะติดตั้งทีละวงจรและติดตั้งเฉพาะวงจรที่มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยเท่านั้น หากเกิดกรณีที่ไฟฟ้ารั่วหรือไฟฟ้าเกิน เครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วจะตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะวงจรที่เกิดเหตุเท่านั้น"

 

* ราคาเครื่องลดลง เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น

แม้ว่าเครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่คาดว่าเมื่อมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้ราคาของอุปกรณ์ดังกล่าวปรับตัวลดลง ซึ่งในอนาคตภาคอุตสาหกรรมของไทยอาจมีการพัฒนาสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ทำให้ราคาอุปกรณ์ถูกลง

 

นอกจากนี้ มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยยังมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับเครื่องป้องกันไฟฟ้าในส่วนอื่นๆ ซึ่งมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฉบับใหม่ได้กำหนดขึ้น ได้แก่ ไฟฟ้าชั่วคราว ซึ่งมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฉบับใหม่จะระบุถึงการต่อสาย การเดินสายภายในอาคารที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง อีกทั้งยังระบุถึงเครื่องป้องกันไฟฟ้าในส่วนของอาคารเพื่อสาธารณะใต้ผิวดิน และวงจรช่วยชีวิต ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากขึ้นโดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไป

 

"ทั้งนี้ มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดไว้ว่า หาก มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศ ไทยมีเนื้อหาหรือรายละเอียดไม่เพียงพอ ให้ยึดหลักตามมาตรฐาน IEC เป็นสำคัญ"

 

* ให้ความรู้กับบุคลากรทุกระดับ

เนื่องจากมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย เป็นการรวมกฎเกณฑ์ ข้อบังคับของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไว้ด้วยกัน ดังนั้น มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฉบับดังกล่าวจะถือเป็นมาตรฐานที่ใช้เป็นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับทั่วประเทศ ในการออกแบบ ติดตั้งไฟฟ้าทั่วประเทศทั้งเขตนครหลวงและส่วนภูมิภาค ทำให้มาตรฐานดังกล่าวมีลักษณะเหมือนการบังคับใช้กฎหมายฉบับหนึ่งเช่นกัน

 

ดังนั้น การเรียนการสอนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการเรียนการสอนต่างๆ ทั้ง ปวช. ปวส. หรือระดับปริญญาตรี จะต้องปรับปรุงหลักสูตร โดยสอนให้นิสิตนักศึกษามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางด้านไฟฟ้ายึดถือมาตรฐานเดียวกัน

 

"สมัยก่อน ผมสอนหนังสือต้องอ่านถึง 5 มาตรฐาน ทั้งของอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และเยอรมนี แล้วแต่แบบที่ดีไซน์จะอ้างอิงมาตรฐานใด ทำให้เสียเวลามาก และขาดทิศทางที่ชัดเจน"

 

สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การให้ความรู้พื้นฐานเพื่อให้การออกแบบและติดตั้งทางไฟฟ้าเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศแก่บุคลากรทุกระดับ โดยในส่วนของวิศวกร ว.ส.ท. พยายามเข้าไปดูแล สำหรับผู้รับเหมา, โฟร์แมน หรือช่างฝีมือควรจะต้องมีหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือสมาคมช่างเหมา เป็นต้น เข้ามาดำเนินการ

 

นอกจากนี้ จะต้องมีการจัดโปรแกรมอบรมวิศวกรให้รู้จักมาตรฐาน IEC ซึ่งเป็น International Standard ที่จะใช้อ้างอิง เมื่อต้องการข้อมูลและรายละเอียดที่นอกเหนือจากมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ให้วิศวกรมีความคุ้นเคยกับมาตรฐานดังกล่าวมากขึ้น

 

อีกแนวทางหนึ่งที่จะเริ่มดำเนินการ คือ โครงการประชุมผู้ขายอุปกรณ์ต่างๆ และซัพพลายเออร์ในประเทศให้รู้จักและคุ้นเคยกับมาตรฐาน IEC รวมถึงการเชิญบริษัทผู้รับเหมาและบริษัทผู้ออกแบบเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงถึงข้อดีของการใช้มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าเพียงมาตรฐานเดียวในประเทศ และใช้มาตรฐาน IEC เป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับกรณีที่ต้องการข้อมูลและรายละเอียดที่นอกเหนือจากมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย การจัดโปรแกรมอบรมดังกล่าวจะต้องจัดเป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้และความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

 

* เฟืองเล็กเชื่อมเฟืองใหญ่ หมุนเพื่อเอกภาพ

 

"ที่ยึดตามมาตรฐาน IEC นั้น เพราะ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม มีข้อตกลงกันว่าให้การผลิตอุปกรณ์เป็นไปตามมาตรฐาน IEC ดังนั้น แนวทางมาตรฐานการติดตั้งฯ ก็ควรจะดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับอุปกรณ์ต่างๆ บางคนเข้าใจผิดว่าทำไมเราไปใช้มาตรฐาน IEC เหมือนกับว่าไปเข้าข้างยุโรป ทำไมไม่เปิดเสรีใช้มาตรฐานของประเทศอื่นๆ ผมก็เลยตั้งคำถามว่าความเสรีนั้นอยู่ตรงไหน ทำไมยุโรปเขาจึงไม่ใช้มาตรฐานอเมริกา ไม่ใช้หลายๆ มาตรฐานในประเทศ ถามว่าเขาปิดกั้นหรือเปล่า แล้วทำไมในอเมริกาจึงใช้มาตรฐานอเมริกาอย่างเดียว เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องของการปิดกั้น แต่เป็นเรื่องของการกำหนดทิศทางให้ทั้งประเทศมีความเป็นเอกภาพ"

 

ทั้งนี้ มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยในอนาคต ยังจะต้องได้รับการปรับแต่งให้มีความทันสมัยและมีการเพิ่มเติมเนื้อหาสาระให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ทุกๆ ระยะเวลา 3-5 ปี โดยเพิ่มเนื้อหาสาระและรายละเอียดเข้าไปให้มากขึ้น ให้ครอบคลุมในเนื้อหาสาระ และมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

"เมื่อมาตรฐานที่กำหนดขึ้นมีเนื้อหาสาระครบครันอย่างเพียงพอสำหรับการค้นหาข้อมูล และรายละเอียดการออกแบบและติดตั้งทางไฟฟ้า ย่อมทำให้วิศวกร ผู้รับเหมาและผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาใช้มาตรฐานดังกล่าวมากขึ้นและไม่ใช้มาตรฐานอื่นๆ มาอ้างอิงอีกต่อไป ทำให้ประเทศมีมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าที่เป็นข้อกำหนดอย่างจริงจังและเข้มแข็ง"

 

* งานวิจัยพัฒนาต้องสร้างรายได้ให้ภาคอุตสาหกรรม

 

เกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยนั้น รศ.ดร.ชำนาญให้ความ เห็นว่าปัจจุบันมีความพยายามที่จะทำงาน วิจัยในลักษณะของ Advance Techno-logy เน้นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง โดยใช้ดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของงานวิจัยที่จำนวนบทความที่ถูกตีพิมพ์ในต่างประเทศ ทำให้การวิจัยและพัฒนาไม่ประสบผลสำเร็จในเชิงธุรกิจ เป็นผลงานวิจัยที่ไม่มีคุณค่าต่อสังคม อุตสาหกรรม และประเทศชาติ เพราะไม่สามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนามาสร้างให้เกิดรายได้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้ ทั้งๆ ที่ใช้เงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเป็นจำนวนมาก

"หากพิจารณาในแง่ของความเป็นเลิศทางวิชาการ งานวิจัยและพัฒนาที่ถูกตีพิมพ์ในต่างประเทศ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นเลิศทางวิชาการได้ดี แต่รากเหง้าที่สำคัญของการวิจัยและพัฒนาในประเทศ เป็นการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมงานทางด้านวิศวกรรม และอุตสาหกรรม ให้เกิดรายได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

"งานวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้เป็นการสร้าง Output แต่ไม่สร้าง Outcome เนื่องจากผลงานวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาควิศวกรรมของประเทศ ซึ่งดัชนีชี้วัดที่ถูกต้องควรพิจารณาถึง Outcome มากกว่า Output เป็นการดำเนินการที่ค่อนข้างผิดทิศทาง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ภาคอุตสาหกรรมของประเทศอยู่ในระดับกลาง ไม่จำเป็นต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

"ควรจะพิจารณาถึงความสามารถในการสร้างให้เกิดรายได้ ประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ หรือการวิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นจะช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากงานวิจัยและพัฒนาบางอย่างไม่ได้วัดผลสำเร็จด้วยตัวเงิน"

 

* เดินหน้า...แลหลัง

 

ปัจจุบัน รศ.ดร.ชำนาญ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สอนระดับปริญญาโทและเอก รวมถึงการทำวิจัยควบคู่กันไป

"ที่มหาวิทยาลัยขณะนี้ก็ได้มีโครงการวิจัยร่วมกับ กฟภ. ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว ผมเองทำงานด้านนี้มาเกือบตลอดชีวิตเพิ่งได้เห็นว่า กฟภ. เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ขณะนี้ก็เริ่มเห็นผลงานบ้างแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ด้าน กฟน. เองก็ได้รับติดต่อให้ทำวิจัยด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นสเกลเล็ก แต่ในอนาคตคงได้มีการช่วยเหลือและร่วมมือกันมากขึ้น"

 

สำหรับกิจกรรมทางสังคม นอกจากบทบาทของประธานวิชาการสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ว.ส.ท. ในการผลักดันให้ใช้มาตรฐานฯ เดียวกันแล้ว รศ.ดร.ชำนาญ ยังเป็นกรรมการ สภาวิศวกร, นายกสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย และสมาคมวิศวกรออกแบบและที่ปรึกษาเครื่องกล และไฟฟ้าไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และยังมีตำแหน่งประธานกรรมการมาตรฐาน อีก 4 แห่ง ได้แก่ ประธานกรรมการมาตรฐานติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย, ประธานกรรมการมาตรฐานระบบป้องกันฟ้าผ่าภายนอกอาคาร, ประธานกรรมการมาตรฐานระบบป้องกันฟ้าผ่าภายใน และประธานกรรมการระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้

"ถ้าตัวเราหรือในระดับองค์กรมีความมั่นคงแล้ว ต้องหันหลังมามองสังคมบ้าง ผมเองก็ไม่ใช่คนร่ำรวย แต่ที่ลงแรงกายแรงใจในเรื่องนี้ เพราะเราเห็นช่องโหว่ หากเราเดินผ่าน ทุกคนก็เดินผ่าน ในเรื่องสมาคมวิชาชีพก็เช่นกัน สมัยก่อนอยู่ส่วนใครส่วนมัน ผมก็ไปเลียบๆ เคียงๆ ว่า เราอยู่ในวิชาชีพเดียวกัน ทำไมไม่มาลิงค์กัน พวกเราก็เหมือนโมเลกุลเล็กๆ ถ้าต่างคนต่างเดินก็ลอยไปลอยมา หัวเดียวกระเทียมลีบ จึงได้เกิดการรวมตัวของสมาคมวิชาชีพต่างๆ เป็น Chain Link เชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ถูกต้อง และเหมาะสม เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมและประเทศชาติ

"ในยามที่ประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคมถือเป็นสิ่งที่ดี อย่าพยายามมองแต่ตัวเอง เพราะทุกคนก็มีรายได้น้อยลงและมีความลำบากในการยังชีพเช่นกัน ดังนั้น ถ้าพบใครที่กำลังเดือดร้อน เราควรจะช่วยเขา ถ้าหากว่าการช่วยเหลือนั้นไม่ทำให้เราลำบาก สิ่งสำคัญ คือ การมีเมตตาจิตและทำงานอย่างมีคุณธรรม"

 

* เตือนวิศวกรรุ่นใหม่อย่าคำนึงถึงรายได้มากกว่าความสามารถ

 

สิ่งหนึ่งที่ รศ.ดร.ชำนาญ ฝากถึงวิศวกรรุ่นใหม่ ควรจะพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานให้มาก โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจเช่นนี้

"การเรียกร้องสิทธิ์ในเรื่องรายได้เริ่มต้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรตระหนักถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง ควบคู่กับรายได้เริ่มต้นที่เหมาะสมกันด้วย"

 

ส่วนในด้านการเรียนรู้ อาจกล่าวได้ว่าเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ได้เร็วกว่าเด็กสมัยก่อน เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วโดยผ่านทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีทั้งผลลัพธ์ในทางบวกและลบ เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้รวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยี ดังกล่าวก็สามารถสร้างผลลัพธ์ทางลบให้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน หากเด็กมีความอ่อนแอทางจิตใจ เทคโนโลยีจะนำพาเด็กไปสู่การเรียนรู้ในทางเสื่อมเสียได้เร็วขึ้น ซึ่งในส่วนของการเรียนรู้ผ่านทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ผู้ใหญ่ยังคงต้องช่วยตัดสินใจและเป็นผู้ชี้แนวทางในการเรียนรู้อย่างถูกวิธี

รศ.ดร.ชำนาญได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะพยายามทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไฟฟ้าสำหรับ

สาธารณชนให้ครบทุกส่วน ซึ่งขณะนี้ก็ได้ครบตามที่ต้องการแล้ว

 

ส่วนการทำให้มาตรฐานฉบับนี้แพร่หลาย และมีความอยู่รอดอย่างถาวรนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากวิศวกรผู้ออกแบบ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย รวมถึงช่วยกันพัฒนาในส่วนที่ยังขาดรายละเอียดอยู่ ตลอดจนการอบรมให้วิศวกรในประเทศ

เข้าใจมาตรฐาน IEC มากขึ้นด้วย

 

ความสำเร็จในวันนี้ รศ.ดร.ชำนาญ บอกว่า มี กฟน. และ กฟภ.เป็นแกนสำคัญ ส่วนตัวท่านเองเป็นเพียงเฟืองตัวเล็กๆ ทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานขึ้นมาเท่านั้น

 

เฟืองเล็กๆ ที่รู้จังหวะในการขับเคลื่อน

เฟืองเล็กๆ ที่มีพลังมากมายเหลือเกิน

เฟืองเล็กๆ ที่ไม่เคยหยุดเดินที่จะทำสิ่งดีๆ ให้สังคม

 

เอกสารอบรมเรื่องการออกแบบระบบล่อฟ้า

เอกสารการตรวจสอบระบบไฟฟ้า

  • เอกสารประกอบการสอน หัวข้อ การตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในอาคารเบื้องต้น (กลุ่มนักศึกษา สาขาวิศวกรรมโยธา)
  • เอกสารแบบฟอร์มการตรวจสอบระบบไฟฟ้า ของ อุตสาหกรรม
  •  

ติดต่อ ผศ.มนตรี  เงาเดช

montri@rmutl.ac.th  / montri2007@gmail.com

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่

 

สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์

  เจ็ดลิน : 128 ถนนห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300 โทรศัพท์ 0-5392-1444 ต่อ 2124 โทรสาร 0-5321-3183

  เจ็ดยอด : 95 ถนนเชียงใหม่-ลำปาง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300โทรศัพท์ 0-5341-4250 - 2 โทรสาร 0-5341-4253

 

[ Since 06 / 09 / 2015 ]

Copyright © 2015 by montri. All Rights Reserved.

System Requirement :: Internet Explorer  or Netscape Navigator or Google Chrome | 1024x768 Resolution